โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (ความเป็นมาของโครงการ และวัตถุประสงค์ของโครงการ) (ตอนที่ 1)

             ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ เร่งการปรับตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อุตสาหกรรมและบริการการท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากแต่ละประเทศต่างงัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ที่มีพื้นฐานรายได้ และกำลังซื้อสูง จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กรมเจ้าท่าจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมเรือสำราญที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล

ดังนั้น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จึงได้จัดให้มีการศึกษาและสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

จากการที่ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเล 2 ด้าน ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทย และทะเลฝั่งอันดามัน รวมความยาวมากกว่า 3,100 กิโลเมตร ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามทั้งทางบก และทางทะเลเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างป ระเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีท่าเรือสำราญที่สายการเดินเรือสำราญสามารถเข้ามาแวะพักทางทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบนได้เพียง 2 ท่าเท่านั้น คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งแต่ละท่ามีข้อจำกัดปัญหาอุปสรรคในเรื่องของตัวท่าเทียบเรือสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือสำราญ และแหล่งท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน และอาจมีไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับเรือสำราญ และจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญขนาดใหญ่จะสามารถจุนักท่องเที่ยวได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก รวมทั้งระบบพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมืองที่ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวก และความรวดเร็วในการสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ

ดังนั้น กรมเจ้าท่าจึงได้มีวัตถุประสงค์การศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน ดังนี้

  • เป็นการศึกษา และวิเคราะห์คัดเลือกพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน (ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
    จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี) ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือต้นทาง (Home Port) เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise)
  • เป็นการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และสังคม พร้อมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือต้นทางรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่บริเวณอ่าวไทยตอนบนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตลอดจนใช้เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
  • เป็นการสำรวจ และออกแบบองค์ประกอบโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือต้นทางรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ในการรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และให้สอดคล้องกับรูปแบบการท่องเที่ยวเดินเรือสำราญ เพื่อให้มีผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
  • เป็นการจัดทำรายงานผลการศึกษา และวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการที่มีขนาดใหญ่ได้มีการศึกษาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการพัฒนาท่าเรือสำราญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น จึงเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่จะได้มีการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวที่มีโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ เพิ่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตในบริเวณอ่าวไทยตอนบน