นายอำเภอบางละมุง นำทีมบุกจับโรงงาน
นายอำเภอบางละมุง นำทีมบุกจับโรงงานขยะอิเลคทรอนิกส์สร้างปัญหามลพิษ
นายอำเภอบางละมุง สนธิกำลัง อุตสาหกรรม ทหาร ตำรวจ บุกตรวจโรงงานย่อยเม็ดพลาสติกต่างชาติ ตะลึงพบกองขยะอิเลคทรอนิกส์
นับร้อยตันพบเปิดดำเนินการยังไม่ได้รับอนุญาต ทำผิดเงื่อนไข แรงงานต่างด้าว สร้างปัญหามลพิษชุมชน ก่อนสั่งดำเนินคดี 6 ข้อหาพร้อมขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติม
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังร่วม เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.14 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางละมุง เจ้าหน้าที่ ตม.ชลบุรี บุกเข้าตรวจสอบที่ “โรงงาน ดี.เค.พลาสติก (ประเทศไทย) จำกัด” ตั้งอยู่เลขที่ 31/ 11 ม.4 ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าโรงงานดังกล่าวเปิดดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากท้องถิ่นและประกอบการผิดเงื่อนไขที่ได้ขออนุญาตไว้ อีกทั้งยังมีการขนถ่ายขยะอิเลคทรอนิกส์ซึ่งหวั่นว่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีปัญหาแรงงานต่างด้าว และการชะล้างและปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำรางธรรมชาติ สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 4 ไร่เศษ ล้อมรอบด้วยกำแพงรั้วซีเมนต์ขนาดความสูงกว่า 3-4 เมตรโดยรอบอาคาร ทั้งนี้ภายในต้องตะลึงกับกองขยะพลาสติกที่เป็นเศษซากของอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ จำพวกอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งอยู่กลางลานโรงงาน และโกดังขนาดใหญ่จำนวน 4 หลังรวมปริมาณนับร้อยตัน โดยขณะตรวจสอบพบกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งชาย-หญิงต่างพากันวิ่งหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงกระจายกำลังและสามารถควบคุมตัวไว้ได้ทั้งหมดจำนวน 21 ราย ซึ่งมีสัญชาติพม่า ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าไม่มีบัตรใบอนุญาตเป็นหญิง 7 รายและชาย 6 ราย จึงควบคุมตัวไว้
พร้อมกันนี้ยังตรวจสอบพบวิทยุสื่อสารจำนวนหนึ่ง ไฟแช็คลักษณะพ่นซึ่งเป็นอุปกรณ์ห้ามครอบครอง ขยะอันตรายจำพวกแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ บุหรี่ต่างประเทศไม่ผ่านการเสียภาษีทางสรรพสามิต ก่อนคุมตัว Mr.Chen Youglin อายุ 39 ปี สัญชาติจีน ซึ่งเป็นผู้ดูแลไว้สอบสวน ก่อนซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อตรวจสอบการเข้าออกในราชอาณาจักร และการประกอบกิจการภายในประเทศ ขณะที่การตรวจสอบบริเวณโดยรอบอาคารพบว่านอกจากกองขยะพลาสติกและอื่นๆจำนวนมากแล้ว ยังพบเครื่องจักรที่ทำการบดอัดเม็ดพลาสติกด้านหลังอาคาร ซึ่งมีการชะล้างและปล่อยน้ำเสียจากการเดิน เครื่องและปล่อยน้ำออกสู่พื้นที่ลำรางและเกษตรกรรม รวมทั้งเครื่องจักรสายพานลำเลียงภายในโกดังเพื่อแยกชิ้นส่วนขยะอิเลคทรอนิกส์ จึงได้มอบหมายให้มีการอายัดไว้ก่อนตรวจสอบอีกครั้ง
นายสำรวย เข็มทองหลาง หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ได้ยื่นขออนุญาตไว้กับทางสำนักงานโดยแจ้งว่าเป็นโรงงานบดอัดเม็ดพลาสติก ซึ่งเช่าช่วงที่ดินต่อมาจาก พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจาก บ.ราชาถุงจัมโบ้ จำกัด แต่บังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการเนื่องจากยังไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากภาครัฐ ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจึงถือว่าผิด ขณะที่การขออนุญาตนั้นมีเงื่อนไขข้อห้ามหลายประการที่โรงงานประเภทนี้ห้ามดำเนินการ ตามมาตรา 12 วรรค 5 พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 อาทิ ระบบป้องกันเสียง การห้ามเผา ห้ามชะล้าง และจัดทำระบบป้องกันมลพิษ จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขเช่นกัน ขณะที่ขยะมลพิษ โดยเฉพาะพวกแผงวงจรไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์นั้น ถือว่าเป็นของต้อง ห้าม ซึ่งจะได้ทำการตรวจสอบที่มาๆนำเข้าจากต่างประเทศและผ่านขั้นตอนทางศุลกากรหรือไม่
นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง กล่าวว่าโรงงานแห่งนี้มีประชาชนร้องเรียนมาได้ช่วง เวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นโรงงานที่มีเจ้าของเป็นคนสัญชาติจีน ซึ่งไม่ได้การขออนุญาตจากท้องถิ่นอย่างเพื่อเปิดกิจการอย่างถูกต้องจึงได้มาเฝ้าระวังและตรวจสอบกระทั่งมีการสนธิกำลังในครั้งนี้ โดยเบื้องต้นพบว่ามีการขออนุญาตจัดทำเป็นโรงงานอัดเม็ดพลาสติก แต่พบว่ามีหลายประการที่ดูแล้วไม่ถูกต้อง อาทิ การดำเนินการที่ผิดเงื่อนไข การนำเข้าวัตถุดิบต้องห้ามหลายอย่าง โดยเฉพาะแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ซึ่งเป็นขยะอันตราย ปัญหาของการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากการชะล้างกากวัสดุที่เป็นขยะอันตรายลงสู่พื้นที่ข้างเคียงและแหล่งน้ำธรรมชาติ ปัญหาแรงงานต่างด้าวเถื่อน บุหรี่เถื่อน และวิทยุสื่อสาร เบื้องต้นจึงตั้งข้อกล่าวหาไว้ 6 ประการ ได้แก่ 1.ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย 2.ครอบครองวิทยุสื่อสารที่ใช้ความถี่ของราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.มีไว้ในครอบครองซึ่งสิ้นค้าที่ไม่ได้เสียภาษี (บุหรี่) 4.ประกอบกิจการโรงงานไม่ ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 5.ใช้อาคารผิดประเภท โดยที่ได้รับอนุญาตตาม พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และ 6.ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พรบ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ก่อนจะมอบหมายให้หน่วย งานที่เกี่ยวข้องขยายผลเพื่อตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป…